1.สามเณรราหุล สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

สามเณรราหุล เป็นโอรส (ลูกชาย) ของพระนางยโสธรากับเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกบวชเมื่ออายุ ๗ ขวบ และเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี สาเหตุที่ท่านบวชเพราะทรงตรัสขอพระราชสมบัติจากพระราชบิดา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่าสมบัติที่ประเสริฐที่สุดที่ควรให่แก่ลูก คืออริยทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐยิ่งกว่าโลกียทรัพย์ หรือทรัพย์สินเงินทอง จึงทรงตรัสให้ราหุลออกบวช เมื่อบวชแล้วสามเณรก็เป็นผู้ว่าง่ายอยู่ง่ายไม่ถือตนว่าเป็นโอรสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมีความเคารพในพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง สามเณรราหุลมีนิสัยรักในการใฝ่ศึกษาเป็นอย่างมาก ท่านได้กอบทรายเต็มกำมือแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า..."ขอให้ได้ฟังคำแนะนำสั่งสอนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์ให้ได้มากเท่ากับเม็ดทรายในกำมือ" ด้วยเหตุนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องพระราหุลว่าเป็นเอตทัคคะ (ผู้ประเสริฐสุด) ในทางด้านผู้คงแก่เรียนใฝ่ศึกษา

2.สังกิจจสามเณร

สามเณรใจเพชร ผู้ทำให้คนทั้ง 500 คน กลับใจ

สามเณรสังกิจจะ บวชในสำนักของพระสารีบุตรเถระ ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ด้วยวัย ๗ ขวบ ในขณะปลงผมบวช ท่านเพียงรูปเดียวเป็นที่พึ่งแก่พระภิกษุ ๓๐ รูป ในป่าให้รอดพ้นความตายจากโจรป่า และยังสร้างศรัทธาให้กับโจร ๕๐๐ ได้บวชในพระพุทธศาสนา เนื่องจากพวกโจร ๕๐๐ ไม่สามารถใช้ดาบฟันคอสามเณรได้ เกิดปาฏิหาริย์ดาบงอพับ ทำให้หมู่โจรเกิดความเลื่อมใสขอบวชกับสามเณร ในที่สุดหมู่โจรได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เมื่อได้มาฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

3.สามเณรนิโครธ

ผู้จุดให้พระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ประมาณ ๓๐๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน มีสามเณรน้อยรูปหนึ่งนามว่า สามเณรนิโครธ อายุเพียง ๗ ขวบ ได้ออกบวชและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ สามเณรน้อยมีผิวพรรณผ่องใสและเป็นผู้ที่ฝึกตนเป็นอย่างดีจึงมีบุคลิกที่สงบเสงี่ยมสง่างามน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ทำให้พระราชาคือ พระเจ้าอโศกมหาราชเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในทันทีที่เห็นสามเณรเดินผ่าน จึงนิมนต์ขอฟังธรรมสามเณรได้ให้โอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่พระเจ้าอโศกมหาราชว่า "ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย"

เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชเกิดมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงเปลี่ยนพระองค์ใหม่ เปลี่ยนจากผู้มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) มาเป็นผู้มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) เปลี่ยนจากนิสัยดุร้าย เป็นผู้ที่มีแต่ความเมตตา ทรงเปลี่ยนแว่นแคว้นของพระองค์ให้เป็นอาณาจักรแห่งธรรม ทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง ต่อมาได้ทรงเผยแผ่และปักหลักพระพุทธศาสนาให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงในหลายดินแดนสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

4.โสปากสามเณร

ผู้เกิดในป่าช้า บรรลุอรหันต์ในป่าช้า

สามเณรน้อยชื่อ โสปากะ แปลว่า "ผู้เกิดในป่าช้า" เพราะท่านเกิดในป่าช้า เรื่องมีอยู่ว่า...สามเณรรอดตายราวปาฏิหาริย์ขณะอยู่ในครรภ์มารดาซึ่งกำลังถูกเผาบนเชิงตะกอนในป่าช้าแห่งหนึ่ง เพราะชาวบ้านเข้าใจผิดว่ามารดาตายแล้ว แต่บุญบารมีที่ท่านจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์จึงมีฝนตกลงมาดับไฟที่กำลังเผาร่างนั้น สามเณรได้หลุดออกจากครรภ์มารดาและถูกนำไปเลี้ยงดูในป่าช้าแห่งนั้น เด็กชายโสปากะเติบโตในป่าช้าจนอายุได้ ๗ ขวบ จึงได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงมาโปรดในป่าช้า ทำให้เด็กน้อยเกิดความเลื่อมใสในทันที จึงขอออกบวชและได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในเวลานั้นเอง

ต่อมา...สามเณรโสปากะได้รับอนุญาตให้บวชเป็นพระจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะอายุเพียง ๗ ขวบ การบวชกระทำโดยตอบปัญหา ๑๐ ข้อ สามเณรสามารถตอบปัญหาเหล่านั้นได้อย่างฉาดฉานและถูกต้อง จนได้รับคำสรรเสริญจากพระพุทธองค์

5.จุนทะสามเณร

ผู้มีส่วนริเริ่มสังคายนา

จุนทะเป็นน้องชาย ๑ใน ๗ ของพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกบวชเป็นสามเณรในสำนักพระสารีบุตร ผู้เป็นพี่ชายโดยมีพระอานนท์เป็นพระอุปัชฌาย์ (พระผู้บวชให้) เมื่อบวชแล้วก็บำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุธรรมเป็นอรหันต์ตอนอายุ ๗ ขวบพร้อมคุณวิเศษ มักอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประวัติสำคัญของจุนทะสามเณร เช่น ได้เป็นพุทธอุปัฏฐาก คือผู้ปรนนิบัติรับใช้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโปรดให้พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำแล้ว ในบางคราวก็ทรงโปรดให้พระจุนทะถวายการรับใช้ เช่น เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารแล้ว (กำหนดวันตายไว้ล่วงหน้า) เสด็จไปที่เมืองกุสินารา ระหว่างทางผ่านแม่น้ำกกุธานที ทรงโปรดให้พระจุนทะปูผ้าให้เอนกายบรรทม (หลับ) ณ ริมแม่น้ำนั้น เป็นผู้มีส่วนเริ่มสังคายนาในพระพุทธศาสนา เนื่องจากจุนทะสามเณรได้เล่าเรื่องความแตกแยกที่เกิดในลัทธิอื่นให้แก่พระอานนท์ และพระสารีบุตรฟัง จึงเกิดความคิดให้มีการรวบรวมพระพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ขึ้นเรียกว่า "สังคายนา" เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ยาวนาน

6.กุมารกัสสปสามเณร

ผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ

กุมารกัสสปะ เป็นชื่อที่พระเจ้าปเสนทิโกศลที่ทรงรับอุปการะเลี้ยงดูตั้งให้ เพราะมารดาของท่านได้มีศรัทธาออกบวชหลังจากแต่งงานแล้ว และไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ (ท้อง) ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดสินเรื่องนี้ว่าไม่ผิดศีลเพราะได้ตั้งครรภ์ก่อนบวช

กุมารกัสสปะคลอดออกมามีหน้าตาน่ารักและมีผิวพรรณดุจทองคำด้วยบุญบารมีที่สั่งสมมาดีแล้วหลายภพหลายชาติ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลี้ยงดูจนเจริญวัย ต่อมาได้ขอบวชเป็นสามเณรในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่งผู้เป็นเพื่อนในอดีตชาติของท่าน ซึ่งได้ไปบังเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้ลงมาหาและผูกปัญหา ๑๕ ข้อให้แก้ แล้วบอกว่าให้ไปถามปัญหาเหล่านี้ต่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกุมารกัสสปะสามเณรได้ฟังการแก้ปัญหา ๑๕ ข้อ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเวลานั้นเอง ต่อมาพระกุมารกัสสปะได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศด้านการกล่าวถ้อยคำอันวิจิตรไพเราะสมบูรณ์ด้วยเหตุและผล ท่านเป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระศาสนา

7.สุมนสามเณร ผู้ปราบพญานาค

สุมนสามเณร บวชเป็นสามเณร เพื่อคอยอุปัฏฐากพระอนุรุทธเถระสาวกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศทางด้านทิพยจักษุญาณ (ตาทิพย์)

สุมนสามเณรมีบุญ ได้สั่งสมบุญเก่ามาดีข้ามภพข้ามชาติ เพราะฉะนั้นเวลาบวชเพียงใบมีดโกนจรดปลายเส้นผม ก็สามารถพิจารณาเห็นแจ้งถึงความไม่เที่ยงของสังขารแล้วบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พอโกนผมเสร็จทั้งศีรษะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที

วันหนึ่งสุมนสามเณร ต้องการนำน้ำจากสระอโนดาต มาถวายการรักษาอาการปวดท้องของพระอนุรุทธเถระ แต่พญานาคนามว่า ปันนกนาคราชแห่งสระอโนดาตเกิดความโกรธ แผ่พังพานกั้นขวางไว้ ท่านสุมนสามเณรจึงแสดงฤทธิ์เพื่อให้ปันนกนาคราช มีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย โดยเหาะขึ้นไปบนอากาศแล้วเนรมิตกายสูง ๑๒ โยชน์ เหยียบพังพานของพญานาค ทันทีที่เหยียบลงไปบนพังพานของพญานาค พังพานก็หดเหลือขนาดเล็กเท่าทัพพี แล้วน้ำในสระอโนดาตพุ่งขึ้นมาให้สามเณรรองใส่ภาชนะที่นำมาจนเต็ม หมู่ทวยเทพต่างแซ่ซ้องสาธุการกันไปทั่วบริเวณ ในที่สุดสามเณรก็สามารถนำน้ำไปถวายพระเถระได้สำเร็จ เมื่อท่านอนุรุทธเถระฉันน้ำนั้นแล้ว จึงหายจากอาการปวดท้องทันที

8.บัณฑิตสามเณร

ผู้บรรลุอรหันต์จากการฟังธรรมเพียง ๔ ข้อ

บัณฑิตสามเณรบวชตอนอายุได้ ๗ ขวบ สามารถสำเร็จอรหันต์ในวันที่ ๘ ของการบวช มารดาตั้งชื่อว่า "บัณฑิต" เหตุเพราะเมื่อสามเณรได้มาปฏิสนธิในครรภ์มารดา ก็ปรากฏว่าคนในบ้านเรือนมีแต่ความฉลาดปราดเปรื่องมากขึ้น

"เวลาที่ผู้มีบุญบำเพ็ญสมณธรรมจะมีเทพยดาคุ้มครองป้องกัน แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ยังเสด็จไปช่วยอารักขา" ดังเช่นกรณีของสามเณรบัณฑิต

ในวันที่สามเณรน้อยตั้งใจบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม อาสน์ (ที่นั่งประทับ) ของท้าวสักกะเทวราช เทวดาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นที่สองคือชั้นดาวดึงส์เกิดอาการร้อนขึ้นมา พระองค์จึงได้ลงมาอารักขาที่ประตูหน้ากุฏิ ท้าวมหาราชทั้งสี่ทิศ (เทวดาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นแรก ชั้นจาตุมหาราชิกา) ได้ห้ามพระอาทิตย์และพระจันทร์ไม่ให้หมุน และไล่เสียงนกกาโดยรอบไม่ให้รบกวนแก่สามเณร องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงทราบเหตุการณ์ทุกอย่างด้วยพระญาณ ก็ทรงไปอารักขาที่ซุ้มประตูวัด เพื่อเหนี่ยวรั้งการเข้าไปของพระสารีบุตรด้วยการตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ เพื่อให้สามเณรได้บำเพ็ญเพียรสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อน

สาเหตุที่สามเณรตั้งใจปฏิบัติธรรมจนบรรจุอรหันต์ได้สำเร็จเพราะเห็นเหตุการณ์ ๓ อย่าง คือ
๑. เห็นคนชักน้ำ จึงคิดว่า เมื่อคนสามารถชักน้ำซึ่งไม่มีจิตใจไปสู่ที่ที่ตนเองต้องการได้ แต่เหตุใดจึงไม่สามารถบังคับใจให้อยู่ในอำนาจได้
๒. เห็นคนกำลังถากไม้ทำเกวียนอยู่ จึงคิดว่า คนสามารถนำเอาท่อนไม้ที่ไม่มีจิตใจมาทำเป็นล้อได้ แต่ทำไมไม่สามารถบังคับใจได้
๓. เห็นคนกำลังใช้ไฟลนลูกศรเพื่อจะดัดให้ตรง จึงคิดว่า คนสามารถดัดลูกศรให้ตรงได้ แต่เหตุใดไม่สามารถบังคับใจให้อยู่ในอำนาจได้

9.สามเณรสีวลี

เอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก

สามเณรสีวลีเจริญด้วยลาภสักการะ เพราะในอดีตชาติได้ถวายน้ำผึ้งสดแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระวิปัสสีและหมู่สงฆ์ ด้วยผลบุญที่ได้ถวายทานแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยความเคารพเลื่อมใส ส่งผลให้สามเณรสีวลีเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ไม่ว่าจะไปอยู่ในแห่งหนตำบลใด ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก ก็จะมีทั้งมนุษย์และเทวดานำลาภสักการะมาถวายมิได้ขาดตกบกพร่อง คราวใดที่หมู่สงฆ์จะต้องผ่านไปยังถิ่นกันดาร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมักจะมีพระดำรัส (สั่ง) ให้พาสามเณรสีวลีไปด้วยเสมอ เพราะจะช่วยให้พระภิกษุทั้งหลายไม่ขัดสนเรื่องข้าวปลาอาหารและปัจจัยสี่ พระสีวลีกุมารเป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา พระราชธิดา (ลูกสาว) ของพระเจ้ากรุงโกลิยะ อยู่ในครรภ์มารดายาวนาน ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เพราะเคยทำบาปกรรมในชาติหนึ่งที่ไปล้อมเมืองศัตรูเป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ทำให้คนจำนวนมากเดือดร้อน อย่างไรก็ตามด้วยอำนาจแห่งบุญที่สีวลีกุมารได้เคยถวายน้ำผึ้งสดไว้ ก็ส่งผลทำให้มีผู้นำเครื่องสักการะมาถวายพระมารดาขณะตั้งครรภ์ทุกเช้าเย็นมิได้ขาด สามเณรสีวลีได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขณะบรรพชาในช่วงที่จรดใบมีดปลงผมเสร็จพอดี

10.สามเณรปิโลติกะ

อดีตเด็กขอทาน

ในสมัยพุทธกาลมีเด็กขอทานคนหนึ่งชื่อว่า ปิโลติกะ นุ่งผ้าเก่าๆ ขาดวิ่น ถือชามกระเบื้องเดินขอทานอยู่ไปมา พระอานนท์เห็นเข้าจึงเกิดความเมตตาชวนให้เด็กขอทานได้บวชในพระพุทธศาสนา สามเณรจึงได้บวชกับพระอานนท์นับแต่บัดนั้น แต่อยู่มาวันหนึ่ง สามเณรเกิดกิเลสกำเริบรู้สึกอยากสึกจึงเดินไปยังต้นไม้ ต้นที่พาดผ้าที่ตนเคยนุ่งตอนยังเป็นขอทานไว้ พอสามเณรเห็นผ้าเก่านั้นก็สลดใจ คิดขึ้นมาได้ว่า "เรานี่ช่างไม่อายญาติโยมที่ถวายผ้าอย่างดีให้ด้วยศรัทธา" พอเตือนตัวเองดังนั้น สติก็กลับมา ใจผ่องใสขึ้น แต่วันต่อมาก็คิดจะสึกอีก สามเณรปิโลติกะเดินกลับไปกลับมาที่ต้นไม้นั้น เป็นเช่นนี้อยู่หลายวัน แต่ก็เตือนตนให้ได้สติทุกครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่งสามเณรได้บรรลุอรหันต์จึงบอกกับพระทุกรูปว่า ตนเลิกเดินไปยังต้นไม้ต้นนั้นแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ผู้ที่สามารถห้ามตัวเองจากความคิดอกุศลได้ มีน้อยคนนัก ผู้มีศีลไม่ด่างพร้อยก็เหมือนกับได้นุ่งผ้าสะอาดหมดจดไร้มลทิน จิตใจก็แช่มชื่น

11.พระเรวตขทิรวนิยเถระ

เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่า

สามเณรเรวตะ เป็นน้องชายของพระสารีบุตรผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้หนีการแต่งงานไปออกบวชในป่าตอนอายุ ๗ ขวบ และอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียนเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในป่าไม้ตะเคียนนั้น เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ท่านมีชื่อว่า พระเรวตขทิรานิยะ (คำว่า ขทิรวนิยะ แปลว่า ไม้ตะเคียน) พระเรวตเถระอยู่ในป่าไม้ตะเคียนเป็นเวลานาน ท่านได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้อยู่ป่า ท่านสามารถแสดงฤทธิ์เนรมิตป่าตะเคียนให้กลายเป็นอารามงดงามกว้างขวางเพื่อต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตร และหมู่สาวกพระภิกษุสงฆ์

12.สามเณรสานุ

ผู้ถูกยักษิณีเข้าสิง

สานุสามเณร แม้จะยังเยาว์ก็สามารถแสดงธรรมเทศนาได้แกล้วกล้าและไพเราะเกินตัว เทศนาทุกครั้งจะมี เทวดา ยักษ์ และอมนุษย์มาฟังด้วยเสมอ ท่านจึงเป็นที่เคารพของอมนุษย์และเทวดาจำนวนมาก ได้มียักษิณี (คือยักษ์ผู้หญิง) ตนหนึ่งซึ่งเคยเป็นมารดาในอดีตชาติของสามเณรมาฟังธรรมเทศนาของสามเณรอยู่เป็นประจำ

ต่อมาวันหนึ่งสามเณรสานุเติบใหญ่ คิดจะลาสิกขา (สึก) ออกไปใช้ชีวิตฆราวาส ทำให้นางยักษิณีตนนั้นขัดขวางไม่ให้สึก เข้าสิงร่างสามเณรสานุ ทำให้สามเณรล้มทั้งยืนตาเหลือกน้ำลายฟูมปาก ดิ้นไปดิ้นมา แล้วกล่าวว่า "ยักษ์จะไม่มารังแกผู้รักษาศีลประพฤติพรหมจรรย์ หากสามเณรรู้สึกตัวเมื่อไร ขอเณรอย่าได้ทำบาปในที่ลับหรือที่แจ้งและอย่าคิดสึกเด็ดขาด หากคิดจะทำหรือกำลังทำก็ตาม แม้นเหาะได้ดังนกก็มิอาจหนีพ้นจากทุกข์ได้เลย" เมื่อกล่าวจบก็ออกจากร่างสามเณรไป ส่วนโยมมารดาของสามเณรสานุผู้เป็นมนุษย์ก็พูดให้สติว่า การคิดสึกออกจากเพศพรหมจรรย์ก็เปรียบเหมือนกับอยากจะตกลงไปในกองเถ้าที่ร้อนอีก สามเณรสานุคิดได้และรู้สึกสลดใจสังเวชใจ จึงขอบวชตลอดชีวิต ต่อมาพระภิกษุสานุได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาทำให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งของกองทัพธรรม เป็นพระธรรมกถึกผู้เชี่ยวชาญเทศนาธรรม มีชื่อเสียงเลื่องลือกระฉ่อน ตราบจนกระทั่งปรินิพานเมื่ออายุได้ ๑๒๐ ปี

13.สามเณรทัพพะ

ได้รับยกย่องทางจัดเสนาสนะ

สามเณรทัพพะ บวชและได้บรรลุอรหัตผลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เป็นสามเณรรูปแรกที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์และเป็นภิกษุรูปแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบวชและยกให้ท่านเป็นภิกษุทั้งที่อายุไม่ครบ ๒๐ ปี เพราะทรงเห็นว่ามีความสามารถไม่แพ้ผู้ใหญ่ มีความชำนาญเป็นพิเศษในการจัดที่อยู่ถวายพระ จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านจัดเสนาสนะ ด้วยอานุภาพของพระอรหันต์ สามเณรน้อยทัพพะสามารถทำนิ้วมือของตัวเองให้มีแสงดุจดั่งแท่งเทียนส่องสว่างในเวลาค่ำคืนเพื่อนำทางแก่พระอาคันตุกะไปสู่ที่พักได้สะดวก สามเณรทัพพะเป็นเชื้อสายกษัตริย์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช แห่งแคว้นมัลละ สาเหตุที่ออกบวชเพราะได้ทอดพระเนตรเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสจึงได้กราบทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา

14.ติสสสามเณร

สามเณรผู้รู้วันละสังขาร

ในสมัยพุทธกาลมีสารเณรน้อยองค์หนึ่งชื่อ ติสสะ อายุ ๗ ปี มาบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมอยู่ในสำนักพระสารีบุตรเถระ อัครสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นระยะเวลาหนึ่งปี สามเณรท่านนี้ได้รับการพยากรณ์จากพระสารีบุตรว่าจะต้องมรณภาพ ภายใน ๗ วันให้ปลงอายุสังขารเสีย พอสามเณรได้ฟังดังนั้น ท่านก็มิได้สะทกสะท้าน หรืออาลัยในชีวิตแต่อย่างใด ไหนๆ ก็จะละสังขารแล้ว ก็ใคร่จะขออำลาพระอาจารย์ไปโปรดโยมบิดามารดาสัก ๓ วัน ในระหว่างการเดินทางได้พบปลาน้อยใหญ่ในสระน้ำซึ่งกำลังแห้งเขิน เมื่อสามเณรไปถึง ปลากำลังดิ้นทุรนทุรายเพราะน้ำไม่เพียงพอ สามเณรจึงรำพึงว่า เรานี้จะตายภายใน ๗ วัน ปลานี้หากไม่มีน้ำจะต้องตายในวันนี้แล้ว อย่ากระนั้นเลยถึงเราจะต้องตายก็ควรจะโปรดสัตว์คือปลาเหล่านี้ให้พ้นจากความตายเถิด ระหว่างทางท่านได้ปล่อยอีเก้งที่ถูกแร้วนายพรานอีก ด้วยอานิสงส์ที่ท่านช่วยชีวิตสัตว์เป็นทาน ด้วยจิตเมตตานี้เองจึงทำให้สามเณรหมดกรรมที่จะต้องหมดอายุขัย แต่กลับมีอายุยืนยาวต่อไปแถมยังมีผิวพรรณผ่องใสยิ่งขึ้นอีกด้วย

โครงการอุปสมบท
รุ่นบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์
ปีพุทธศักราช 2566
อบรมระหว่าง
28 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ถึง วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567
พิธีอุปสมบท วันที่ 6 - 10 ธันวาคม 2566

คุณสมบัติผู้เข้าอบรม

  1. เป็นชายแท้ อายุ 20 ปีขึ้นไป
  2. มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ โรคจิต โรคประสาท หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ร้ายแรง
  3. ไม่ติดยาเสพติดให้โทษทุกชนิด
  4. ร่างกายไม่ทุพพลภาพ
  5. เป็นผู้อยู่ง่าย กินง่าย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการอบรม
  6. มีคุณสมบัติอื่นๆ ของผู้บวช ตามกฎมหาเถรสมาคม